17.11.56

Solar Collector ถอดรหัสพลังงานทดแทน(2)

ถอดรหัสพลังงานทดแทน Solar Collector (ผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์) 1

ตอนปัญหาของธุรกิจรับติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ?

ในตอนที่แล้วที่กล่าวถึงปัญหาของการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบัน ที่พบว่ายังไม่มีความแพร่หลายมากนัก และพบว่าในส่วนของครัวเรือนยังมีการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบดังกล่าวน้อย แต่ในส่วนของผู้ประกอบการอย่าง สถานประกอบการ และโรงแรมต่างๆ มีการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบ Solar Collector เพื่อใช้ในการผลิตน้ำร้อนอย่างแพร่หลาย หากแต่ก็พบปัญหาบ่อยครั้งเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจต้องมองย้อนถึงธุรกิจการรับติดตั้งเครื่องทำความร้อน และเครื่องผลิตพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ Solar Collector ว่ามีปัญหาเช่นไร? รวมถึงปัญหาของธุรกิจเหล่านี้อยู่ตรงที่ใด และส่งผลต่อการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันอย่างไร?
ปัญหาจากตัวผู้ซื้อ และผู้ขาย 


Solar Collector พลังงานทดแทน
Solar Collector พลังงานทดแทน

สำนักข่าวแห่งชาติ ได้ติดตามถึงปัญหาเชิงลึกและทางออกของประเด็นดังกล่าว จากการสอบถามจาก นายนิติรัตน์ โสภณพิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้พลังงานผลิตความร้อน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) กระทรวงพลังงาน ที่กล่าวถึงผู้ใช้เครื่องทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Collector) จากการลงพื้นที่ นายนิติรัตน์ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใช้อย่างโรงแรม สถานประกอบการณ์ต่างๆ มักมีปัญหาที่ระบบการทำงาน Solar Collector ผิดพลาดซึ่งมาจาก ประการแรก การไม่ได้บำรุงรักษาระบบเลย พบว่าเครื่องทำน้ำร้อนหลายแห่งติดตั้งแล้วชำรุดเสียหาย จนกระทั่งผู้พักอาศัยต่อว่า ทำให้เจ้าของโรงแรมส่วนหนึ่งยกเลิกการใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตน้ำร้อน และหันไปใช้น้ำร้อนไฟฟ้าแทน “ปัญหา คือบ้านเรามักจะติดตั้งแล้วไม่ได้มีการบำรุงรักษา คือปัญหาส่วนใหญ่จากผู้ขาย บางรายที่ขายแล้วไม่ได้ติดตามหลังการขาย หรือบอกลูกค้าว่าติดตั้งแล้วไม่ต้องบำรุงรักษา จริงๆ แล้วอุปกรณ์เหล่านี้มีระบบค่อนข้างละเอียด” นายนิติรัตน์ กล่าว
ประการที่สอง คือ เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาดูแลรักษาระบบ ปัจจุบันมีอยู่น้อยมากทำให้ผู้ที่จะเข้ามาดูแลระบบเหล่านี้ด้วยความชำนาญและจริงจัง จึงหาได้ยากมากในปัจจุบัน แม้มหาวิทยาลัยบางแห่งมีการเรียนการสอนในเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ แต่นายนิติรัตน์ กล่าวว่า การเรียนในเชิงลึก (เชิงปฎิบัติ) ทำได้ยากเพราะเป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการเรียนรู้พื้นฐาน และเน้นการขายความคิด แต่ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์โดยตรง…. นี่คือปัญหาโดยตรงประการหนึ่ง ที่อาจทำให้ต้องย้อนคิคว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันยังไม่เฟื่องฟูหรือไม่!!!!!
ฉะนั้น นายนิติรัตน์ แนะว่า อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ ให้เห็นถึงความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้า นายนิติรัตน์แนะว่า อยากให้รัฐบาล สนับสนุนการลงทุนของกิจการต่างๆ หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในการสนับสนุนกิจการที่ใช้พลังงานทดแทน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางหนึ่ง และเป็นแรงใจให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสในอนาคต
ปัญหาด้านการตลาดและราคา

นายนิติรัตน์ กล่าวถึงข้อจำกัดของธุรกิจการผลิตและรับติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Collector) ว่าปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง เนื่องจากขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก แต่การขายค่อนข้างยาก เนื่องจากกลุ่มการขายแคบเพราะจะขายได้กับกลุ่มคนที่ต้องใช้น้ำร้อนในปริมาณมาก อย่าง องค์กร โรงแรม ทั้งนี้เนื่องมาจากราคาค่าอุปกรณ์สูง นี่คือข้อจำกัดประการสำคัญ นอกจากนี้ประเทศที่ผลิต Solar Collector เพื่อส่งขายในปัจจุบัน มีทั้งออสเตรเรีย เยอรมัน อเมริกา ญี่ปุ่น อิสราเอล และจีน ซึ่งถือเป็นคู่แข่งทางการผลิตที่สำคัญเพราะในปัจจุบันประเทศจีนมีการผลิตเครื่องผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบหลอดแก้วที่ราคาถูก และเข้ามาตีตลาดในไทยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นหากมองถึงการผลิตเพื่อการส่งออก อาจทำได้แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่หากมองถึงการขายแค่ในประเทศไทยก็ยังเป็นสิ่งที่ยากอยู่ จึงยังไม่มีการทำการส่งออกที่ชัดเจนในปัจจุบัน
ด้านราคาจำหน่าย Solar Collector ในปัจจุบัน นายนิติรัตน์ กล่าวว่าจะขึ้นอยู่กับตัววัสดุที่ใช้รับแสงอาทิตย์ และขนาดของตัวแผงรับแสงและถังเก็บน้ำร้อน เช่น ตัวถังขนาด 300 ลิตร ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 50,000-80,000 บาท เหตุที่ต้นทุนแพงมาจากหลายประการ มองได้ว่าอาจจะมาจาก 1) การผลิตที่เป็นจำนวนน้อย ไม่ได้ผลิตเป็นจำนวนมากในรูปแบบโรงงานอุตสาหกรรม และ 2) ต้องใช้วัสดุหลายอย่างเป็นส่วนประกอบอย่างแผ่นทองแดงทำให้มีราคาสูง
นายนิติรัตน์ แนะถึงทางออกของปัญหาพลังงานทดแทนว่า หากจะสนับสนุนอย่างจริงจังรัฐบาลอาจต้องมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ให้มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในระยะแรกอาจมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าทำได้ในระยะยาว ประเทศชาติจะมีความคุ้มทุนในแง่ของการประหยัดพลังงาน มากกว่าการบอกให้คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงผู้ทำก็ยังคงมีน้อยหรือไม่ได้คำนึงถึงมากนัก เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ยังคงขายมาก “การประหยัด กับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อาจเป็นเรื่องเดียวกันในบางครั้ง…การไม่ใช้ ไม่ได้หมายถึงการประหยัดเสมอไป..แต่เราควรใช้เท่าที่จำเป็นตากหาก” นายนิติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ท้ายสุดแล้วเมื่อมองถึงแก่นของปัญหาพลังงานทดแทนในบ้านเรา ประเมินได้ว่ายังคงห่างไกลยิ่งนัก หากเราไม่คิดที่จะส่งเสริมและทำความเข้าใจอย่างจริงจัง การอนุรักษ์ทรัพยากร และการประหยัดพลังงานจึงยังคงเป็นได้แค่เพียงเปลือกนอก ท้ายที่สุดแล้วก็ได้แต่หวังว่า ประเทศไทยจะสามารถเข้าใจและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์อย่างสูงสุด และรักษาทรัพยากรของเราไว้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

Credit : พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์