17.11.56

Solar Collector ถอดรหัสพลังงานทดแทน(1)

ถอดรหัสพลังงานทดแทน Solar Collector (ผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์) 1

ตอนพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์คนไทย รู้จัก มากเพียงไร

ระยะหลายสิบปีที่ผ่านมามีการพูดถึงพลังงานทดแทนกันหนาหูขึ้น เพราะมีความเกรงกันว่า ในอนาคต พลังงานเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะหมดไป ทำให้มนุษย์คิดค้นหาวิธีการใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ “พลังงานแสงอาทิตย์” ที่จัดอยู่ในกลุ่มพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ เป็นหนึ่งพลังงานที่พูดถึงมาก เพราะถูกมองว่าเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นทุกวัน และมีอำนาจมหาศาล อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่ใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด สำหรับประเทศไทยคำนวณว่ามีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตใกล้เคียงเส้นศูนย์สูตร หรืออยู่ในแถบร้อน จึงมีค่าพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยค่อนข้างสูง ถึงประมาณวันละ 4.7 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร ดังนั้นหากเราสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงบนประเทศไทยได้เพียงแค่ร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งหมดต่อปี จะได้พลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบถึงประมาณ 700 ล้านตันทีเดียว 

นี่คืออานุภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีวันหมด ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มคิดค้นวิธีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ในรูปแบบของพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันมีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในประเทศ 2 รูปแบบที่แพร่หลายด้วยกัน คือ “โซล่าร์เซลล์” (Solar Cell) และ “โซล่าร์ คอร์เล็คเตอร์” (Solar Collector)
“โซล่าร์เซลล์” (Solar Cell) หรือเซลล์สุริยะ ที่เป็นรูปแบบที่รู้จักและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการนำแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อ “ผลิตไฟฟ้า” ใช้ตามอาคารบ้านเรือน รวมถึงพื้นที่ๆ ไม่สะดวกต่อการเดินสายไฟฟ้าจากโรงผลิตไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งทำด้วยสารประเภทกึ่งตัวนำอย่างซิลิคอน เยอรมันเนียม เมื่อแสงอาทิตย์กระทบสารกึ่งตัวนำเหล่านี้ อิเล็กตรอนในแผ่นซิลิคอนมีพลังงานเพิ่มขึ้น จนสามารถหลุดเป็นอิเล็กตรอนอิสระได้และเคลื่อนไปตามวงจรไฟฟ้าเกิดกระแสไฟฟ้า Solar Cell มีการนำเข้ามาใช้ในไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาและมีการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งการประชาสัมพันธ์ ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
โซล่าร์ คอเล็คเตอร์ (Solar Collector) คล้ายคลึงกับโซล่าเซลล์ แต่เป็นการนำความร้อนจากแสงอาทิตย์มาผ่านระบบน้ำ ให้กลายเป็นความร้อนและเกิดพลังงาน เพื่อนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากกว่าระบบเซลล์สุริยะ (ที่เป็นการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก) ทั้งผลิตลมร้อน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ระบบการอบแห้งเพื่อถนอมอาหาร อย่างกล้วยตากอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์พิษณุโลก ซึ่งเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้แก๊ส นอกจากนี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตน้ำร้อนแทนการผลิตจากไฟฟ้าตามโรงแรม และสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านโรงแรม รีสอร์ท นิยมนำระบบไปใช้ในการผลิตน้ำร้อน หรือหากมีพื้นที่ในการผลิตมหาศาล ก็สามารถใช้เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากน้ำได้เลยทีเดียว
ถอดรหัสพลังงานทดแทน Solar Collector 1
ถอดรหัสพลังงานทดแทน Solar Collector 1
สำนักข่าวแห่งชาติ จึงได้ติดตามเรื่องของการใช้ Solar Collector ในประเทศไทย โดยการสอบถาม นายนิติรัตน์ โสภณพิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้พลังงานผลิตความร้อน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) กระทรวงพลังงาน ว่าปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Solar Collector ได้รับความนิยมมากเพียงใด รวมถึงมีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง นายนิติรัตน์ เล่าว่า Solar Collector เริ่มมีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 สมัยนั้นยังไม่ได้วิวัฒนาการเทคโนโลยีมากนัก ส่วนผู้ประกอบการยังมีไม่มาก และไม่ได้รับความนิยม จากปัญหาทางเทคนิคเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมาก
ข้อดีของ Solar Collector นายนิติรัตน์กล่าวว่า หากเทียบระหว่าง Solar Cell และ Solar Collector จะพบว่า Solar Collector มีความคุ้มทุน มากกว่า เพราะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวดเร็วกว่า และสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ เช่น ตามบ้านเรือน โรงแรม โดย Solar Collector จะดึงไฟฟ้ามาใช้ในระบบเพียงนิดเดียวแต่ใช้แสงอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เช่น ในหนึ่งวันจะเสียค่าไฟที่นำมาใช้ทำน้ำร้อนเพียง 40 บาท จากเดิมในภาวะปกติอาจเสียถึง 1,000 บาทต่อวัน หากแต่ Solar Collector ก็ยังคงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่า Solar Cell เนื่องจากไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก รวมถึงราคาอุปกรณ์ที่ค่อนข้างสูง
ส่วนข้อจำกัดของ Solar Collector ถือเป็นประเด็นทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก นายนิติรัตน์ กล่าวว่า อาจมองได้ว่ามาจาก ประการแรก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถผลิตความร้อนได้เต็มที่ในเวลากลางวันเท่านั้น และต้องเป็นที่ที่มีแสงแดดเพียงพอ เช่น หากฝนตก มีหมอก จะทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะไปอาศัยไฟฟ้าในการผลิตแทน ทั้งนี้ผู้ออกแบบต้องออกแบบให้ระบบเครื่องทำไฟฟ้าสำรองทำงานน้อยที่สุดหรือทำงานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ประการที่สอง ปัจจุบันยังมีเครื่องไฟฟ้า ที่ถูกผลิตขึ้นอย่างมากมาย และมีการแข่งขันทางการขายสูง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า ซึ่งหากเทียบถึงราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มีราคาถูกกว่ามาก ขณะที่การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละครั้ง มีราคาเริ่มต้นที่สูง ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาถูกกว่า ประการสุดท้าย ผู้ขายมีการเน้นกระแสการประหยัดพลังงานใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าในปัจจุบัน เช่น ฉลากเบอร์ 5 ช่วยประหยัดไฟ ทำให้การเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนยังคงเกิดช่องว่างในปัจจุบัน “คนที่ทำธุรกิจเช่น โรงแรมอาจจะมองว่า ในเมื่อค่าเช่าต่างๆ ที่เก็บก็รวมอยู่ในค่ากระแสไฟฟ้าอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องนำมาลงทุนการผลิตน้ำร้อนที่เป็นพลังงานทดแทนนี้” นายนิติรัตน์ กล่าว 

ดังนั้นหากมองอีกมุมหนึ่งจึงเกิดคำถามว่า การสนับสนุนตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ ในทางกลับกันอาจเป็นการทำให้คนไม่ได้หันมาสนใจในเรื่องพลังงานทดแทนอย่างจริงจังหรือไม่???
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อประเมินถึงตลาดของพลังงานทดแทนในปัจจุบัน จะพบว่าในระดับครัวเรือนยังคงไม่แพร่หลาย แต่จะกระจุกตัวทางการใช้ในระดับของผู้ประกอบการมากที่สุด นอกจากนี้หากมองถึงความเข้าใจของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน จะพบว่าคนไทยยังขาดความเข้าใจในการใช้พลังงานทดแทนอยู่มาก ที่ส่วนใหญ่มีความคิดว่า เมื่อติดตั้งพลังงานทดแทนแล้ว ก็สามารถใช้ได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษา ปัญหาดังกล่าวนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการใช้พลังงานทดแทนอย่างไร ติดตามได้ในตอนหน้า แต่ท้ายสุดแล้วในกระแสของโลกที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เมื่อมองค่านิยมการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบัน อาจทำให้คนไทยต้องย้อนกลับมามองตนเองว่า คนไทยได้รู้จักคำว่าพลังงานทดแทนดีแล้วจริงหรือ?????

Credit : พิมพิดา โยธาสมุทร เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์